วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

โดย ดุสิตา ภูสิงห์

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเมืองเก่าแก่ทางพุทธศาสนา มีวัดวาอารามมากมาย เมื่อเอ่ยถึงวัดเก่าแก่ประจำจังหวัดและอยู่ใจกลางเมืองนั้น ผู้ที่เคยมาเยือนคงไม่มีใครไม่รู้จัก นั้นก็คือ  “ วัดทุ่งศรีเมือง ” เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และยังคงหลงเหลือหลักฐานทางพระพุทธศาสนา ที่ถูกเก็บรักษาไว้ด้วยภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน ให้ผู้ที่ศรัทธาและเลื่อมใสในศาสนาได้มาเรียนรู้และเที่ยวชม

“ วัดทุ่งศรีเมือง ”  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของ ศาลหลักเมืองประจำจังหวัดอุบลราชธานี หรืออีกชื่อหนึ่งคือ   “วัดราษฎร์”  และยังใกล้กับสถานที่ราชการหลายแห่ง ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใจกลางเมือง ทำให้พื้นที่ มีเพียง 19 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ซึ่งไม่ใหญ่มากนัก

สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2356 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในสมัยสมเด็จกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้ตกลงกับเจ้าของที่ดินหลายคน ให้ยกที่ดิน (ที่ทำนา) ให้กับทางราชการ และเนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่ปลายทุ่ง ท่ามกลางเมืองอุบลราชธานี  จึงเรียกว่า "ทุ่งศรีเมือง"  เป็นที่จัดงานมหกรรมใหญ่ๆ เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา  งานรัฐธรรมนูญ

ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมที่สำคัญมากมาย เช่น หอไตรกลางน้ำ  พระอุโบสถหรือหอพระพุทธบาท  ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติทั้ง  2  หลัง นอกจากนี้ยังมี พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญ และเก่าแก่ของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

หอไตรกลางน้ำ  

พระอริยวงศาจารย์ฯ ได้สั่งให้ญาคูช่าง สร้างหอแห่งนี้ขึ้น ลักษณะของอาคารเป็นไม้ตั้งอยู่กลางสระน้ำ มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างศิลปะของไทย ลาว และพม่า ตัวอาคารเป็นแบบเรือนไทยภาคกลางด้วยลักษณะเรือนยกพื้นสูง ผนังเป็นแป้นฝาไม้แบบเรียบ มีเครื่องสับฝาแบบฝาปะกน ภายในมีตู้เก็บพระธรรมลงรักปิดทอง บริเวณหลังคาเป็นทรงจั่วด้วยศิลปะไทยผสมพม่า คล้ายสถาปัตยกรรมแบบเชียงรุ้ง มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงศ์ ส่วนบนของหลังคาเป็นแบบ 2 ชั้น ส่วนลวดลายแกะสลักบนหน้าบรรณทั้ง 2 ด้านนั้นเป็นศิลปะแบบลาว บริเวณปะกนด้านล่างมีลวดลายแกะสลักเป็นรูปสัตว์ประจำราศีต่างๆรวมถึงทวยไม้ค้ำยันชายคาซึ่งสลักเป็นรูปเทพพนมที่บริเวณด้านหน้าประตู 2 ตัว นอกนั้นเป็นรูปพญานาคโดยรอบ มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก คือ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ มากมาย ส่วนมากเป็นหนังสือใบลานจารึกด้วยอักษรธรรมและสมุดข่อย ไม่ให้ทำลายพระไตรปิกฎให้เสียหาย



พระอุโบสถ หรือ หอพระพุทธบาท

สร้างโดยเจ้าคุณพระอริยาวงศาจารย์ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) จึงให้ครูช่างชาวเวียงจันทน์ ดำเนินการก่อสร้าง หอพระพุทธบาท ซึ่งลักษณะของหอนี้ เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสาน ระหว่างอีสานพื้นบ้านกับเมืองหลวง คือโครงสร้างช่วงล่าง เช่น ฐานเอวขัน บันไดจระเข้ เฉลียงด้านหน้าคงเอกลักษณ์ของสิมอีสานไว้ แต่โครงสร้างช่วงบนเป็นหลังคาทรงจั่วมีชั้นลด 2 ชั้น รวยลำยองมีช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ทวยและซุ้มประตูหน้าต่างแบบเมืองหลวง ส่วนลวดลายหน้าบันสาหร่ายรวงผึ้ง มีลักษณะเป็นแบบอีสานผสมกับเมืองหลวงเหมือนสิมวัดแจ้ง มีความกว้าง 6 เมตร ยาว 13 เมตร ต่อมาได้สร้างเป็นเขื่อนกำแพงแก้วหอพระพุทธบาท เป็นสองชั้นรอบๆพระพุทธบาท กำแพงมีขนาด กว้าง 23 เมตร ยาว 32 เมตร ภายในพูนดินให้สูงเหมือนเป็นฐานรองรับหอนี้ โดยได้ขุดเอาดินมาจากสระด้านทิศเหนือ ซึ่งมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 24 เมตร ลึก 3 เมตร โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง จากวัดสระเกศมาให้พุทธบริษัทเมืองอุบลได้กราบไหว้ นอกจากนี้ภายในอุโบสถยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่มีคุณค่า โดยเขียนเป็นภาพเทพชุมนุม พุทธประวัติบางตอน  ภาพชาดก  และ ภาพชาวบ้านถิ่นอีสาน ซึ่งแสดงให้เห็นสังคม วิถีชีวิต การละเล่นพิธีกรรม  การแต่งกาย

ที่มา : http://topicstock.pantip.com/

พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง 

พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่องค์หนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีประวัติสร้างขึ้นพร้อมเมืองอุบลราชธานี ในพ.ศ. 2335 สร้างขึ้นในสมัย พระปุทมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) โดยพระสงฆ์ที่ติดตามมากับขบวน “พระวอ พระตา” จากเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (เมืองหนองบัวลุ่มภู) เพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศลของเจ้าเมือง และเหล่าข้าราชบริพาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 2.39 เมตร ในปี พ.ศ.2458  พระครูวจีสุนทร เจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ และท่านพระครูวิโรจน์รัตนโนบล เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองในขณะนั้น ได้นำญาติโยมไปอาราธนา  พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง จากวัดเหนือท่า (ซึ่งในตอนนั้นเป็นวัดร้าง) มาเป็นพระประธานที่ วิหารศรีเมือง (ศาลาการเปรียญวัดทุ่งศรีเมือง) และได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเศียรพระเจ้าใหญ่ศรีเมืองที่ชำรุดขึ้นใหม่ โดยจำลองให้คล้ายกับ “พระเหลาเทพนิมิต” ที่วัดพระเหลาเทพนิมิต อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ


ที่มา : http://www.dhammathai.org/

สำหรับการเดินทางมาที่วัดแห่งนี้ สามารถเดินทางมาได้ทั้งโดยรถรถยนต์ส่วนตัว และรถประจำทาง โดยวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 95 ถ.หลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ทิศตะวันออก สวนสาธารณะทุ่งศรีเมืองหลังโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี  ส่วนรถประจำทาง มีทั้งรถเมล์ขนาดเล็ก สายสีขาวและสายสีแดง

ถ้าหากคุณมาเยือน จังหวัดอุบลราชธานี อย่าพลาดที่จะแวะ “ วัดทุ่งศรีเมือง ”  ชมความสวยงาม หอไตรกลางน้ำอายุกว่า 200 ปี อันเลื่องลือในด้านสถาปัตยกรรมอันงดงาม ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามมงกุฎราชกุมารี พร้อมสักการะขอพรพระพุทธบาทจำลองและพระเจ้าใหญ่ศรีเมือง เพื่อเป็นสิริมงคล







อ้างอิง

วัดทุ่งศรีเมือง. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2558, จาก http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=26&d_id=2

วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2558, จาก http://www.dhammathai.org/watthai/northeast/watthoongsrimuang.php

วัดทุ่งศรีเมือง หอไตรกลางน้ำเลื่องลือ แห่งเมืองอุบลฯ. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2558, จาก http://www.thetrippacker.com/th/review/WatThungSiMueang/5424

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย . สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2558, จาก http://thai.tourismthailand.org/home

ยุทธนาวรากร  แสงอร่าม. พื้นถิ่นอีสานในงานจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต   ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ  ศิลปกร, 2551.


No comments:

Post a Comment