เจดีย์วัดช้างล้อม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

โดย กชมน ศรีนรคุตร

หากนึกถึงเจดีย์ในศิลปะสุโขทัยที่มีความสวยงาม และมีเอกลักษณ์อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะมีรูปช้างปูนปั้นนับหลายสิบเชือกอยู่ล้อมรอบเจดีย์ทรงลังกาขนาดใหญ่ ซึ่งมีไม่กี่ที่ เมื่อเห็นก็รู้ได้ทันทีว่าคือที่ไหน หนึ่งในนั้นก็คือ วัดช้างล้อม ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

เจดีย์วัดช้างล้อม เป็นเจดีย์ประธานทรงลังกาตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยมีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ประตูด้านหน้าและประตูด้านหลังเป็นทางเข้าออกก่อเป็นกำแพงศิลาแลงหนามีการเล่นระดับที่ซุ้มประตูอย่างสวยงาม ส่วนประตูด้านข้างก่อเรียงอิฐศิลาแลงปิดไว้เป็นประตูตัน ไม่สามารถเข้าออกได้

เจดีย์ประธานมีขนาดใหญ่นี้ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันหลายชั้น มีทางเดินเป็นบันไดขึ้นไปยังชั้นบน โดยรอบเจดีย์มีช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 9 เชือก (ยกเว้นด้านที่เป็นบันไดทางขึ้นมีเพียง 8 เชือก) และที่มุมมีช้างขนาดใหญ่ประดับอีก 4 เชือก รวมเป็น 39 เชือก ช้างเชือกใหญ่ที่อยู่มุมเจดีย์เป็นช้างทรงเครื่องมีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ และข้อเท้าสวยงามกว่าช้างที่ฐานสี่เหลี่ยม ระหว่างช้างปูนปั้นที่ฐานนั้นจะมีเสาประทีปที่ไว้สำหรับวางโคมไฟ และจุดเทียนเพื่อความสว่างไสว เป็นศิลาแลงสลับเป็นระยะ ด้านหน้าช้างแต่ละเชือกจะมีพุ่มดอกบัวตูมปูนปั้นวางตั้งอยู่

เหตุผลที่สร้างช้างไว้ล้อมรอบเจดีย์ประธาน อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการได้รับอิทธิพลจากศรีลังกา ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่คู่วัฒนธรรมชาวศรีลังกามายาวนาน  เช่นเดียวกับสังคมไทย ชาวลังกาเชื่อว่าพระพุทธเจ้าในอดีตชาติทรงเคยเสวยพระชาติเป็นพญาคชสาร และตามคติความเชื่อที่ว่าช้างเป็นสัตว์ที่ค้ำชูพระพุทธศาสนา จึงเกิดธรรมเนียมการสร้างช้าง หนุนที่รอบฐานพระสถูปเจดีย์

คุณอมรา  ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวถึงความหมายของช้างทั้ง 39 เชือก ไว้ว่า หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ  ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นเครื่องหมายการตรัสรู้ ประกอบกับวิมุตติ 2 ประการ ไปสู่การหลุดพ้นแห่งจิตและปัญญา ไปสู่ความหลุดพ้นไม่เกิดอีก (อรหันต์) ซึ่งเป็นอุดมคติหรือโมกษธรรมที่เป็นการหลุดพ้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา นั่นคือนิพพาน

ปัจจุบันช้างปูนปั้นได้ผุผังไปเป็นส่วนใหญ่ เหลือที่เห็นเป็นรูปหัวช้างอยู่จำนวนไม่กี่เชือก แต่ยังคงแสดงออกถึงความงดงามของประติมากรรมสมัยสุโขทัยอย่างเต็มที่ ช้างปูนปั้นที่วัดช้างล้อมในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมีลักษณะเด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่นๆ คือ ยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่เทียบเท่าหรือใหญ่กว่าช้างจริง

ด้านหน้าของเจดีย์ประธานมีบันได 2 ชั้นขึ้นสู่ลานประทักษิณ เหนือฐานประทักษิณมีซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย 20 ซุ้ม โดยส่วนใหญ่ได้ผุผังไปเกือบหมด ยังเหลือที่สมบูรณ์เพียงไม่กี่องค์ เหนือบริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ก้านฉัตรประดับด้วยพระรูปพระสาวกปางลีลาปูนปั้นแบบนูนต่ำจำนวน 17 องค์

จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลข้างต้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเจดีย์ประธานวัดช้างล้อมมีความสวยงามเป็นอย่างมาก อีทั้งยังสร้างตามคติความเชื่อด้านพระพุทธศาสนา ทำให้เจดีย์ประธานวัดช้างล้อมแห่งนี้นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจได้ดีอย่างยิ่ง

อ้างอิง

สารสนเทศจังหวัดที่ตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (มปป.). วัดช้างล้อม. Retrieved 31 มกราคม 2557, from http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/srinatcl.htm

สุรศักดิ์. (2553).  เจดีย์วัดช้างล้อม ศรีสัชนาลัย ... ทำไมต้องช้างล้อมด้วย และไทยเอาแบบอย่างมาจากไหน. Retrieved 31 มกราคม 2557, from http://www.oknation.net/blog/print.php?id=649469

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2553).  เจดีย์วัดช้างล้อม. Retrieved 31 มกราคม 2557, http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/39482/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1/


เจดีย์วัดช้างล้อม



No comments:

Post a Comment