วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม อุทยานประวัติศาสตร์เมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย

โดย ปราณี อุตมะ

จังหวัดสุโขทัยถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากจังหวัดสุโขทัยนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายหลายรูปแบบ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่งให้เราได้เยี่ยมชมและยังให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อีกด้วย ดังนั้นข้าพเจ้าจึงอยากแนะนำให้รู้จักสถานที่หนึ่งซึ่งก็คือ“วัดศรีพิจิตรกิติกัลยาราม” หนึ่งในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย

วัดศรีพิจิตรกิติกัลยาราม หรือเดิมเรียกว่า “วัดตาเถรขึงหนัง”  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้และอยู่ห่างจากประตูนะโมไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑.๗ กิโลเมตร ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๔๖ โดยพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดามหาดิลกรัตนราชนาถกรรโลงแม่ ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าที่ ๒ และเป็นพระราชมารดาของพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าที่ ๓ (ไสลือไท) เจ้าเมืองสุโขทัย ได้โปรดให้นิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่จากเมืองกำแพงเพชรมาอำนวยการสร้างวัดแห่งนี้

วัดศรีพิตรกิติกัลยาราม ล้อมรอบด้วยคูน้ำเช่นวัดทั่วไปในสุโขทัย แต่มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง อาทิเช่น หลักศิลาจารึกวัดเถรขึงหนัง พระพิมพ์นางพญาเสน่ห์จันทร์ และเจดีย์ทรงระฆังซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย

หลักศิลาจารึกวัดเถรขึงหนังมีลักษณะแผ่นใบเสมาหินชนวน มีขนาดกว้าง ๖๘ ซม. สูง ๗๒ ซม. หนา ๖ ซม. ค้นพบเมื่อปี ๒๔๙๙ โดย ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี ซึ่งปัจจุบันหลักศิลาจารึกนี้ได้ถูกจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

พระพิมพ์นางพญาเสน่ห์จันทร์ซึ่งเป็นพระพิมพ์นางพญาที่ลือชื่อของจังวัดสุโขทัย เป็นพระเนื้อดินค่อนข้างหายาก ศิลปะสุโขทัย พุทธลักษณะเป็นพระปฏิมาประทับนั่งปางมารวิชัย ตัดขอบเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว พระพิมพ์ในสกุลนางพญาเสน่ห์จันทร์ พบหลายกรุในจังหวัดสุโขทัย แต่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมสูงคือ นางพญาเสน่ห์จันทร์ที่พบที่กรุวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม (หรือที่เรียกว่า วัดตาเถรขึงหนัง) และที่กรุวัดต้นจันทน์ (บางตำราเขียนเป็น “ต้นจันทร์”) ซึ่งอยู่ห่างจากวัดตาเถรถึงหนังไม่มากนัก จุดเด่นของพระพิมพ์นางพญาที่วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามคือ มักมีคราบหินปูนสีขาวเกาะที่ผิวองค์พระ

เจดีย์ทรงระฆังซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัด ได้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบทั่วไปของสุโขทัยที่มีฐานเตี้ย แต่เจดีย์วัดศรีพิจิตรฯ ตั้งอยู่บนฐานสูง มีฐานเขียงสี่เหลี่ยมเรียบ ๓ ชั้น ต่อด้วยฐานย่อมุมไม้ยี่สิบ แล้วจึงถึงส่วนเรือนธาตุที่เป็นทรงระฆัง ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ได้พบ อัฒจันทร์ คือลายบนพื้นเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก (ครึ่งวงกลม) มีลวดลายเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากศิลปะลังกา

จากข้อมูลข้างต้นนี้ทำให้เราได้ทราบถึงความเป็นมาของโบราณสถาน วัตถุโบราณ และศิลปะในสมัยสุโขทัยหลายอย่าง ซึ่งข้าพเจ้าเองอยากแนะนำให้รู้จักและไปเยี่ยมชมกันเยอะๆ เพราะนอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติสาสตร์แล้วเรายังได้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะสมัยสุโขทัยและอิทธิพลต่างๆ ที่ได้รับมาในสมัยสุโขทัย การไปเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้จะทำให้เราได้รับความรู้และเป็นการพักผ่อนได้ดีทีเดียวค่ะ

อ้างอิง

สุภัทรดิศดิศกุล.(2542),ศิลปะสุโขทัย,(พิมพ์ครั้งที่2).ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร.
วัดศรีพิจิตรกิติกัลยาราม. สืบค้นเมื่อ 31มกราคม 2557, จาก
http://www.su.ac.th/sukhothai/Sukhothai/html_south/sukhothai_thai_about_south_06.html

หลักศิลาจารึก. สืบค้นเมื่อ 31มกราคม 2557, จาก
http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=121

พระพิมพ์นางพญาเสน่ห์จันทร์. สืบค้นเมื่อ 31มกราคม 2557, จาก
http://forum.uamulet.com/view_topic.aspx?bid=9&qid=26290



เจดีย์ทรงระฆัง วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม


พระพิมพ์นางพญาเสน่ห์จันทร์


No comments:

Post a Comment